คอนเทนต์ที่อยากทำ มีคนทำกันเยอะแยะ เราจะทำยังไงดี?

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้เรียนในคอร์สการสร้างตัวตน หลายคนมีปัญหาหนึ่งที่เหมือนกันคือ รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากทำคอนเทนต์เรื่องอะไร แต่ก็เห็นว่าเรื่องนี้คนเก่งๆ หลายๆ คนทั้งใน youtube และ facebook ต่างก็ทำกันไปหมดแล้ว แล้วเราเองเป็นใคร จะไปทำคอนเทนต์เรื่องเดียวกับเขา ใครจะมาดู?

ตัวผมเองก็เคยมีปัญหานี้เหมือนกัน

ในช่วงเริ่มต้นของการทำคอนเทนต์ ผมได้ไปลงเรียนคอร์สต่างๆ กับกูรูที่มีชื่อเสียงหลายท่าน ได้วิธีคิดและความรู้ดีๆ มากมาย เรียกว่าเป็นคนมีความรู้เรื่องการสร้างตัวตนค่อนข้างดีเลยหละครับ ใครถามอะไรตอบได้หมด ความรู้แน่นแต่คอนเทนต์ไม่มี นั่นก็เป็นเพราะว่า Mindset ในการลงมือทำของผมเป็นศูนย์นั่นเอง

และปัญหาหนึ่งที่ทำให้ลงมือทำไม่ได้ก็คือ ความคิดที่ว่า มีคนทำเรื่องที่เราสนใจอยู่แล้วเยอะแยะ และแต่ละคนก็เก่งๆ ทั้งนั้น พูดก็ดีกว่าเรา ถ่ายคลิปก็สวยกว่าเรา ไม่เท่านั้น หน้าตาก็ยังดีกว่าเราอีกด้วย ตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากกับการจัดการความคิดลบๆ แบบนี้มากๆ แต่ในที่สุดผมก็ผ่านมันมาจนได้ครับ

และถ้าวันนี้คุณยังมีความคิดแบบนี้ เราลองมาทำความเข้าใจเรื่องนี้ในแบบที่ผมสอนตัวเองกันดูครับ

เริ่มต้นให้คุณค้นหา คอนเทนต์ที่คุณสนใจจาก youtube ผมยกตัวอย่าง ผมอยากทำเรื่องการฝึกสมาธิ ผมก็จะค้นเรื่องนี้ในช่องค้นหา “การฝึกสมาธิ” เราจะเห็นว่ามีคลิปเป็นพันๆ คลิปที่พูดเรื่องนี้ใช่ไหมครับ ทีนี้เราลองมาเลื่อนไล่ดูไปเรื่อยๆ กันครับ ลองหาดูซิครับว่า มีคลิปไหนที่ไม่มีคนดู หรือยอดวิวเป็น 0 บ้าง

แปลกใจใช่ไหมครับว่า คลิปที่ไม่มีคนดูหรือยอดวิวเป็น 0 เนี่ย แทบจะหาไม่ได้ หรือถ้ามี ก็มีน้อยมากๆ นั่นหมายความว่า ถ้าเราทำคอนเทนต์เรื่องนี้ คลิปของเราก็น่าจะมีโอกาสที่จะมีคนดู ส่วนจะมีคนดูมากแค่ไหนนั้น ก็เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งที่เราควบคุมได้มีเพียง ทำเหตุของเราให้ดีที่สุด ทำคลิปที่ดี ช่วยแก้ปัญหา ลงคลิปให้ได้สม่ำเสมอ เราทำได้แค่นั้นครับ

คนเก่งๆ ที่เราชื่นชอบ ไม่ว่าจะมีผู้ติดตามหลักหมื่นหรือหลักแสน ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็เริ่มต้นจากการลงมือทำ และตั้งหน้าตั้งตาทำไปให้ได้ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ จนมันกลายเป็นตัวตนของเขาที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ ไม่ได้มีเทคนิคหรือกระบวนท่าพิศดารอะไรเลย

ทีนี้กลับมาที่หน้าจอ Youtube ของเราอีกครั้ง หลังจากที่เราเห็นว่าคลิปที่เกี่ยวกับ “การฝึกสมาธิ” มีหลายพันหลายหมื่นคลิป ตรงนี้มันแสดงให้เราเห็นอย่างหนึ่งนะครับว่า

“เรื่องเดียวกัน สามารถที่จะสื่อสารได้หลายพันรูปแบบ”

เรื่องเดียวกัน คนทำคลิปพันคน ก็นำเสนอต่างกันไปพันรูปแบบ แต่หลักใหญ่ใจความเรื่องการฝึกสมาธิยังคงเป็นเรื่องเดียวกัน

การทำคอนเทนต์ มันคือการสื่อสารเรื่องเดิมที่มีอยู่แล้ว ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เราทุกคนล้วนมีความแตกต่าง แค่เราเริ่มต้นทำคอนเทนต์จากตัวตนที่เราเป็น คอนเทนต์เรื่องนี้ก็จะมีความแตกต่างจากคนอื่นที่ทำๆ กันอยู่บ้างแล้วนะครับ และถ้าเราสามารถที่จะใส่ความสร้างสรรค์เข้าไป อาจจะเป็นการเพิ่มประสบการณ์ตรง ที่เกิดขึ้นกับเรา มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจประกอบ หรือจัดสถานที่ทำคลิปให้สวยงาม ใช้กล้องใช้ไฟช่วย หรือตัดต่อให้น่าติดตาม ทั้งหมดก็จะสามารถช่วยให้คอนเทนต์ของเราดีขึ้น น่าดูยิ่งขึ้นได้

และในตอนเริ่มต้นยังไม่ต้องเครียดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ให้มากเกินไปนะครับ เพราะความสม่ำเสมอที่เรามีให้กับสิ่งที่เราทำ จะช่วยให้เราสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาเองระหว่างการเดินทางของเรา เดี๋ยวมันมาเองนะครับ ลงมือทำเท่าที่วันนี้เราทำได้ดีที่สุดก็พอ..

อย่างที่ผมบอกไป และกูรูทุกคนก็พูดเหมือนกัน หัวใจสำคัญที่สุดของเรื่องนี้ คือการลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ

การมีคลิปเดียวเกี่ยวกับเรื่องสมาธิที่ยอดวิวเป็นแสนเป็นล้าน ไม่ได้ทำให้ใครเชื่อว่าคุณเป็นคนเก่งเรื่องฝึกสมาธินะครับ แต่การที่มีคลิปที่ดีในช่องเป็นร้อยเป็นพันคลิปที่เกี่ยวกับการฝึกสมาธิต่างหาก ที่จะทำให้คนดูเชื่อว่าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้

ตอนนี้เราควรเลิกกังวลว่า เรื่องที่เราอยากทำเป็นคอนเทนต์ จะมีคนเก่งๆ หรือใครๆ ทำเรื่องนี้กันมากมายแค่ไหน เพราะถ้ามันเป็นเรื่องที่เราสนใจ เรามีความสุขที่ได้อยู่กับเรื่องนี้ ก็เริ่มต้นลงมือทำเถอะครับ ถ้ามันมีประโยชน์กับเรา มันก็ต้องมีประโยชน์กับคนอื่นๆ เหมือนกัน และอย่าลืมนะครับว่า การออกมาให้ความรู้ มันคือกระบวนการที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราเก่งในเรื่องนั้นๆ ได้อย่างรวดเร็ว จนเชี่ยวชาญได้ในที่สุด

ถ้าเราคิดได้แบบนี้ เราก็จะเห็นว่าคนที่มีแต่ได้กับได้ ก็เห็นจะเป็นตัวเราเองนี่แหละครับ
ทุกคนคิดเหมือนกันไหม?….

ทอมมี่


📌 ไม่พลาดเรื่องราวดีๆ ก่อนใคร กดรับข่าวสารทาง email กับผมใน project ที่ชื่อ A Newsletter From The Desk of Tommy Talk กันได้นะครับ
.
สมัครง่าย แค่กดลิงค์ และใส่ email ของคุณเอาไว้ 😇
https://tommytalk.substack.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *