Memento Mori อย่าลืมว่าวันนึง เราต้องตาย..

วันนี้ผมได้ไปร่วมงานศพของญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นพี่ชายของคุณพ่อผมเอง หรือคุณลุงผมนั่นหละครับ

พออายุเรามากขึ้น คนรอบข้างก็เริ่มทยอยจากไป ทุกครั้งที่คิดเรื่องความตาย ผมจะมีประโยคหนึ่งผุดขึ้นมาในหัวอยู่เสมอ ประโยคนั้นคือ “Memento Mori” ..

“Memento Mori” เป็นประโยคในภาษาลาติน แปลเป็นภาษาอังกฤษก็จะเป็น “Remember You Will Die” ถ้าแปลเป็นไทยต่อก็คือ “จำไว้ว่าวันนึงคุณก็ต้องตาย” และประโยคนี้ทำให้ผมกลับมาคิดว่า ในตอนนี้ที่เรายังมีชีวิตให้ใช้ได้อยู่ ซึ่งก็ไม่รู้ด้วยนะว่าเหลืออยู่เท่าไหร่แน่ๆ วันนี้เรากำลังใช้เวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตทำสิ่งที่คุ้มค่า และมีความหมายอยู่หรือป่าว? ….

ผมเคยมีโอกาสได้ฟังเรื่องราวของพยาบาลชาวออสเตรเลีย ที่ชื่อ Bronnie Ware ที่ทำการสัมภาษณ์ ผู้ป่วยที่ใกล้จะเสียชีวิต หรือผู้ป่วยติดเตียงระยะสุดท้าย ในงานของเธอที่ชื่อว่า

”5 เสียดาย ที่คนใกล้ตายทุกคนพูดถึง”

ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้ก็คือ คนป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้เสียดายสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว แต่เสียดายสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ และสิ่งที่ทุกคนเสียดายมากที่สุดคือ เสียดายที่ไม่ได้ทำตามสิ่งที่หัวใจตนเองต้องการ หลายคนบอกว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะซื่อสัตย์ต่อความคิด ความรู้สึกของตัวเองมากกว่านี้

ในวันที่เราดูเหมือนจะมีเวลาเหลือเฝือ คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยกล้าเลือกทำในสิ่งที่หัวใจตัวเองต้องการ หลายๆ คนใช้เวลาไปกับการทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ชอบ ไม่ได้อยากทำจริงๆ เป็นแค่สิ่งที่ทำเพื่อให้คนรอบข้างพอใจ สิ่งที่ทำแล้วตัวเองจะดูดี เพื่อให้ได้รับการยอมรับ แล้วก็คิดว่า เดี๋ยวค่อยทำสิ่งที่อยากทำจริงๆ ก็ยังทัน น่าเสียดายที่เวลานั้นมันไม่เคยมาถึงนะครับ กว่าจะได้กลับมาเรียกหามัน หลายๆ ครั้งมันก็ไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว..

เรื่องนี้เป็นกระจกสะท้อนให้กับเราที่กำลังดำเนินชีวิตอยู่ได้เป็นอย่างดี ให้เรากลับมาถามตัวเองดูว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ทุกวันนี้ มันมีคุณค่า มันเติมเต็มชีวิตเราอย่างแท้จริงหรือป่าว

การให้ความซื่อสัตย์ต่อตัวเองดูเหมือนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทำไมกลับเป็นสิ่งที่หลายคนเสียใจที่ไม่ได้ทำมากที่สุด ทำไมคนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามที่สิ่งแวดล้อมจะพาไป ..

เราไม่อาจซื่อสัตย์ต่อตัวเองได้นะครับ ถ้าเรายังไม่รู้ว่า เราต้องการอะไร และที่สำคัญกว่านั้นคือ ทำไมเราถึงต้องการมัน

มนุษย์เรามีความสามารถที่จะทำอะไรได้มากมายก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่เราสามารถทำได้ เป็นสิ่งที่เราควรทำไปซะหมด หลายครั้งนะครับ ที่เราทำอะไรบางอย่างได้สำเร็จ แล้วพบว่ามันมีแต่ความว่างเปล่า หรือความรู้สึกที่ดีหน่อยคือแค่ความโล่งใจจากการที่งานนั้นมันเสร็จๆ ไปได้ซักที เชื่อว่าหลายๆ คน ก็น่าเคยมีความรู้สึกแบบนี้นะครับ แล้วความรู้สึกนี้มันบอกอะไรเรา ก็ในเมื่อเราทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ ได้สำเร็จ ทำไมเราไม่มีความสุข ทำไมมันว่างเปล่า คำตอบของเรื่องนี้อาจจะเป็นการที่เราทำในสิ่งที่ไม่ได้สำคัญกับชีวิตเราจริงๆ ก็เป็นไปได้นะ

ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ต้องเฝ้าคุณพ่อที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งที่โรงพยาบาล ผมเคยนั่งหาคำตอบให้กับตัวเอง จากคำถามว่า “ถ้าวันพรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายของชีวิตผมจะเสียใจกับเรื่องอะไรที่ยังไม่ได้ทำบ้าง” คำตอบที่คิดขึ้นมาได้มีเยอะเหลือเกินครับ เป็นคนที่อยากทำอะไรเยอะแยะมากมายจริงๆ แต่เวลาที่ผมมีอยู่มันคงจะไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่คิดออกมาได้หมด ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในเวลานี้ก็คือ อะไรที่ผมเลือกจะทำหรือไม่ทำต่อไปจากนี้ต่างหาก

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงครับว่า สิ่งไหนที่สำคัญหรือไม่สำคัญกับชีวิตเรา ผมมีวิธีทดสอบ เป็นไอเดียที่น่าสนใจที่ผมได้มาจากหนังสือ Bujo หรือ The Bulltet Journal Method วีถีบันทึกแบบบูโจ เค้ามีคำถามง่ายๆ 2 ข้อ ที่เราต้องตอบให้ได้กับ งาน หรือสิ่งใดๆ ก็ตามที่เราอยากจะทำในชีวิต

1. สิ่งนี้ หรืองานนี้สำคัญ กับตัวเรา หรือ คนที่เรารัก หรือปล่า

2. มันจำเป็นต้องทำหรือป่าว

ถ้ามีงานไหน หรือสิ่งไหนที่คุณไม่สามารถมีคำตอบให้คำถามทั้งสองข้อนี้ได้ ให้ถามตัวเองว่าถ้าไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น จะเป็นอะไรไหม มีความเสียหายอะไรหรือปล่าว ถ้าสิ่งไหนไม่ผ่านการทดสอบ มันจะเป็นแค่สิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจของเรา แทบจะไม่เพิ่มคุณค่าใดๆ ให้กับชีวิตเราเลย ให้ตัดมันทิ้งเลยครับ

งานที่ผ่านการทดสอบนี้ส่วนใหญ่จะมีอยู่สองประเภทครับ คือ สิ่งที่ต้องทำหรือหน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบ และ สิ่งที่เราอยากทำ ที่เป็นแพชชั่น เป็นเป้าหมายในชีวิตของเรา

ในเมื่อเวลาเรามีจำกัด ลองถามตัวเราเองดังๆ ดูอีกสักทีดีไหมครับว่า ในวันนี้สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ กำลังใช้เวลาไปกับสิ่งนั้นอยู่ มันเป็นสิ่งที่เราอยากทำ หรือต้องทำจริงๆ ใช่ไหม มันคือสิ่งที่คุณรู้สึกดีเวลาที่คุณได้ลงมือทำในทุกขั้นตอน หรือแค่รู้สึกโล่งอกเวลาที่งานนั้นเสร็จๆ ไปได้ ถ้ามันเป็นความรู้สึกอย่างหลัง น่าจะได้เวลาที่คุณควรจะต้องทำอะไรซักอย่างแล้วหละครับ..

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *