อยากเขียนให้ปัง ต้องอ่านให้เป็น

Day 2

อยากเขียนให้ปัง ต้องอ่านให้เป็น

ทักษะที่สำคัญมากๆ แห่งยุคสมัยนี้ก็คือ ทักษะการเขียน เพราะเราส่วนใหญ่ใช้การเขียนเป็นการสื่อสารหลักในชีวิตกันไปแล้ว ทุกวันนี้เราแชทคุยกันมากกว่าเจอหน้ากันจริงๆ และเราส่วนใหญ่ก็ใช้การเขียนในการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในโลกโซเชียล ทั้งเรื่องส่วนตัว ความคิดเห็นต่างๆ ไปจนถึงการสร้างรายได้อย่างการขายสินค้า

และยิ่งตอนนี้ที่มี AI เข้ามา ทักษะการเขียนดูจะยิ่งสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า คนที่เขียนได้ดีจะสื่อสารกับ AI ได้ดีเช่นกัน เพราะการใช้งาน AI เราต้องเขียน Prompt พูดคุยสนทนากับ AI เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น AI ภาษา หรือ AI สร้างภาพก็ตาม (ไปดูตัวอย่างนักเขียนเก่งๆ อย่างคุณเอ๋ นิวกลม พูดคุยกับ AI แล้วจะเข้าใจเลย ลิงก์ในคอมเมนต์)

ทีนี้เมื่อเรารู้แล้วว่าทักษะการเขียนมันสำคัญ และการที่เราเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “ทักษะ” นั้นหมายความว่าทุกคนสามารถฝึกและเรียนรู้ได้

ปัญหาหนึ่งในการเริ่มต้นฝึกเขียนที่มือใหม่เกือบทุกคนต้องเจอก็คือ เขียนไม่ได้ คิดไม่ออก ไม่รู้จะเริ่มจะไปต่อยังไง ยิ่งตั้งใจมากเท่าไหร่ ยิ่งจับต้นชนปลายไม่ถูก และทำให้หลายๆ คนหมดใจกับการเขียนไปซะก่อน สาเหตุหนึ่งอาจจะมาจากการที่เรามีวัตถุดิบในหัวน้อยเกินไปก็ได้ มันก็เลยทำให้เราเรียบเรียงสิ่งต่างๆ ออกมาเป็นตัวอักษรได้ยากนั่นเอง

“แล้ววัตถุดิบในหัวมันคืออะไร” 🤔

วัตถุดิบที่เรากำลังพูดถึงมันก็คือรูปแบบประโยค คำศัพท์ต่างๆ รวมไปจนถึงความรู้พื้นฐานที่เรามีในเรื่องที่เราสนใจหรือเรื่องที่เราอยากจะเขียนออกมา ซึ่ง วัตถุดิบที่จำเป็นทั้งหมดนี้ เราสามารถเพิ่มเติมมันเข้าไปในสมองของเราได้ง่ายๆ ด้วยการอ่าน

คนที่มีทักษะการเขียนที่ดี มักจะเป็นนักอ่านที่ดีด้วย

การอ่านนอกจากจะเป็นการเพิ่มความรู้ใหม่ๆ ให้เราแล้ว ยังเป็นการเพิ่มคำศัพท์ใหม่ๆ โครงสร้างการเขียน ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอ ถ้าเราอ่านหนังสือได้เป็นประจำ เวลาที่เราเขียนคอนเทนต์หรือฝึกเขียนสิ่งที่เราต้องการ เราจะเริ่มเขียนได้ดีขึ้น คิดได้ลื่นไหลขึ้น สามารถเรียบเรียงสิ่งต่างๆ ในหัวออกมาเป็นงานเขียนที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้ และเมื่อเราเริ่มที่จะเขียนสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในหัวออกมาเป็นเรื่องๆ ได้ ทีนี้การเขียนก็จะเริ่มอยู่ในชีวิตของเราและจะกลายเป็นนิสัยของเราต่อไป

เอาละครับ ไหนๆ เราก็รู้แล้วว่าทักษะการอ่านส่งผลต่อทักษะการเขียนของเรามากๆ ทีนี้สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นเป็นนักอ่านมือใหม่ วันนี้ผมมี 3 ขั้นตอนที่น่าจะช่วยให้ทุกคนเริ่มทำได้แบบไม่ยากจนเกินไปมาฝากกัน

ขั้นตอนที่หนึ่ง

“Read What You Love Until You Love to Read”

ประโยคทองจากหนังสือชื่อดังที่เกี่ยวกับความมั่งคั่งและความสุข The Almanack of Naval Ravikant ผู้เขียนแนะนำว่า ให้เราเริ่มจากการอ่านในสิ่งที่เราชอบ จนเราเริ่มรักที่จะอ่าน

เริ่มต้นเราควรที่จะเลือกอ่านหนังสือที่เราสนใจ หรือมีแนวโน้มที่น่าจะสนใจจริงๆ อย่าเพิ่งไปเลือกหนังสือที่หลายๆ คนบอกว่าดี แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจนะครับ

ถ้าคุณเป็นคนชอบดูซีรี่ย์ ก็อาจจะเริ่มจากการอ่านนิยายก็ได้

ถ้าเป็นคนที่ชอบอ่านคำคมใน Facebook คุณก็อาจจะมีแนวโน้มชอบอ่านหนังสือแนวพัฒนาตนเอง

เราอาจจะเริ่มจากการอ่านรีวิว สรุป หรือฟัง podcast ก่อนจะซื้อหนังสือจริงมาอ่านก็ได้ วิธีนี้ผมใช้เป็นประจำ การอ่านหรือฟัง podcast รีวิว สรุปหนังสือ จะทำให้เรารู้ว่าหนังสือแต่ละเรื่องเนี่ย เค้าพูดเรื่องอะไร และตัวเราเองมีความสนใจเรื่องนี้ไหม ซึ่งใช้เวลาไม่นาน ถ้ารู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่อยากรู้ สนใจ ก็ไปจัดเล่มนั้นๆ มาอ่านได้เลยครับ

ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออะไรก็ตามนะครับ การอ่านจะทำให้เราเริ่มมีคลังคำศัพท์ มีความคุ้นเคยกับรูปแบบประโยค การใช้ภาษา และสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในหัวของเราออกมาได้ไหลลื่นมากขึ้น

เพราะฉะนั้นเริ่มจากหนังสือในเรื่องที่คุณชอบ ที่คุณอยากรู้ก่อนดีที่สุดเลย

ขั้นตอนที่สอง

เมื่อเลือกหนังสือที่เราสนใจได้แล้ว เราก็ต้องอ่านมันด้วยนะครับ ห้ามดอง ให้เราทำสัญญากับตัวเองว่าจะอ่านให้ได้วันละ 5-10 หน้า เป็นอย่างน้อย เวลาอ่านก็ขอให้มีสมาธิกับการอ่านจริงๆ เพราะปัญหาของมือใหม่เกือบทุกคนคือ สมาธิไม่มี นั่งอ่านหนังสืออยู่ก็จริง แต่ใจไปคิดเรื่องอื่น เย็นนี้จะกินอะไร งานที่ส่งไปจะได้รับการตอบรับดีไหม และเรื่องอะไรไม่รู้อีกมากมาย พออ่านจบไป 5 หน้า จำอะไรไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้นใส่ความตั้งใจและจริงจังกับการอ่านในช่วงเริ่มต้นนี้ให้มากหน่อยนะครับ ช่วงแรกๆ อาจจะต้องมีฝืนกันบ้าง แต่ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่าแน่นอน

การฝึกให้เราอยู่กับหนังสือที่อ่านตรงหน้าได้ นอกจากจะพัฒนาทักษะการอ่านได้ดีแล้ว เรายังได้ฝึกสมาธิอยู่กับปัจจุบันเป็นของสมนาคุณที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย

ขั้นตอนที่สาม

ทีนี้พอเราเริ่มอ่านหนังสือได้แล้ว สิ่งสำคัญต่อไปก็คือเรื่องของการสรุปเนื้อหาที่เราได้อ่านไป ขั้นตอนนี้นอกจากจะเพิ่มความเข้าใจและความจำระยะยาวกับสิ่งที่เราอ่านได้แล้ว ยังเป็นการฝึกทักษะการเขียนไปได้ด้วยในตัว เพราะเราจะสรุปสิ่งที่เราอ่านออกมาด้วยการเขียนครับ

วิธีการง่ายๆ หาสมุดเล่มเล็กๆ หยิบปากกาคู่ใจ เขียนสิ่งที่จำได้ลงไป ให้เขียนแบบสบายๆ นะครับ เราเก็บไว้อ่านเองไม่ได้เอาไปให้ใครอ่าน เราอาจจะเริ่มจากเขียนสรุปตามหัวข้อ หรือถ้าเก่งๆ หน่อยจะเขียนทีละบทก็ได้ เวลาที่เราเขียนให้เริ่มเอาสิ่งที่เราจำได้เขียนลงไปก่อน ถ้าจำอะไรไม่ได้ก็กลับไปเปิดหนังสือดูครับ แล้วกลับมาเขียนต่อ แรกๆ อาจจะดูยาก จำอะไรไม่ค่อยได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมดานะครับ สำคัญคือทำให้ต่อเนื่อง แล้วเดี๋ยวเมื่อถึงเวลาที่เราต้องเขียนคอนเทนต์จริงๆ สิ่งที่เราทำไปทั้งหมดมันจะค่อยๆ แสดงออกมาเอง และการเขียนของเราก็จะดีงามขึ้นเรื่อยๆ ครับ

และนี่ก็เป็นคำแนะนำทั้งสามขั้นตอน ที่ผมคิดว่าน่าจะพอเป็นแนวทางให้ใครที่กำลังเริ่มต้นอยากพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนให้ดียิ่งขึ้นได้

สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ทักษะของเรามีพัฒนาการที่ดีก็คือ ความสม่ำเสมอ ฝึกอ่านและฝึกเขียนให้ได้แม้ในวันที่เราไม่มีอารมณ์ทำ (ซึ่งอันนี้ผมเองก็ยังพยายามอยู่เหมือนกัน 😅) ถ้าทำได้แบบนี้แล้ว การเป็นคนที่อ่านได้และเขียนเป็นก็ไม่น่าจะเป็นไปไม่ได้นะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *